เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [10. อานาปานสังยุต]
2. ทุติยวรรค 6. ทุติยภิกขุสูตร

ธรรมอันเป็นเอกที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้ธรรม 4 ประการ
บริบูรณ์ ธรรม 4 ประการที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้ธรรม 7
ประการบริบูรณ์ ธรรม 7 ประการที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้ธรรม 2
ประการบริบูรณ์ เป็นอย่างไร
คือ ธรรมอันเป็นเอกคืออานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว
ทำให้สติปัฏฐาน 4 ประการบริบูรณ์ สติปัฏฐาน 4 ประการที่ภิกษุเจริญ ทำ
ให้มากแล้ว ทำให้โพชฌงค์ 7 ประการบริบูรณ์ โพชฌงค์ 7 ประการที่ภิกษุ
เจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์
อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเจริญอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำให้
สติปัฏฐาน 4 ประการบริบูรณ์
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้
บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก ฯลฯ
สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็น
ความสละคืน หายใจออก
1. สมัยใด ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว หรือ
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้นก็
รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น ฯลฯ สำเหนียกว่า จะรู้แจ้งกองลมทั้งปวง
ฯลฯ สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกว่า
จะระงับกายสังขาร หายใจออก สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็น
กายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด
อภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรา
กล่าวกายอย่างหนึ่ง คือลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มี
ความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสใน
โลกได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :481 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [10. อานาปานสังยุต]
2. ทุติยวรรค 6. ทุติยภิกขุสูตร

2. สมัยใด ภิกษุสำเหนียกว่า จะรู้แจ้งปีติ ฯลฯ จะรู้แจ้งสุข ฯลฯ
จะรู้แจ้งจิตตสังขาร ฯลฯ สำเหนียกว่า จะระงับจิตตสังขาร
หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะระงับจิตตสังขาร หายใจออก สมัยนั้น
ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มี
สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะเรากล่าวเวทนาอย่างหนึ่ง คือ การมนสิการ
ให้ดีถึงลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น
ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มี
สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
3. สมัยใด ภิกษุสำเหนียกว่า จะรู้แจ้งจิต ฯลฯ จะยังจิตให้บันเทิง
ฯลฯ สำเหนียกว่า จะตั้งจิตมั่น หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะตั้ง
จิตมั่น หายใจออก สำเหนียกว่า จะเปลื้องจิต หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะเปลื้องจิต หายใจออก สมัยนั้น ภิกษุ
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
เราไม่กล่าวการเจริญอานาปานสติสมาธิไว้สำหรับผู้หลงลืมสติ
ไม่มีสัมปชัญญะ เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นจิต
ในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ
โทมนัสในโลกได้
4. สมัยใด ภิกษุสำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ฯลฯ
จะพิจารณาเห็นความคลายออกได้ ฯลฯ จะพิจารณาเห็นความ
ดับไป ฯลฯ สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสละคืน หาย
ใจเข้า สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก
สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความ
เพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสนั้นด้วยปัญญาแล้ววางเฉยอย่างดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :482 }